ตรวจสุขภาพช้าง

อุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

อุทยานแห่งชาติ หมายถึง   พื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาลมีทรัพยากรธรรมชาติสวยงามแปลกประหลาดเป็นที่อัศจรรย์   เหมาะสำหรับการพักผ่อน   มีคุณค่าทางการศึกษาหาความรู้ เช่น เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพืช   สัตว์หายาก หรือมีสิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษทางด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะหรือวัฒนธรรม

อุทยานแห่งชาติที่ได้มาตรฐาน   นอกจากจะมีคุณสมบัติดังกล่าวแล้วจะต้องมีขนาดพื้นที่อย่างน้อย 10 ตารางกิโลเมตร   บริหารงานโดยรัฐบาลกลาง (มิใช่รัฐหรือระดับจังหวัด) มีเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างเพียงพอที่จะสามารถป้องกันการบุกรุกได้อย่างเด็ดขาด   ข้อสำคัญจะต้องอนุญาตให้ไปท่องเที่ยวได้   และจะต้องรักษาธรรมชาติให้คงสภาพดั้งเดิมอย่างมากที่สุด

อุทยานแห่งชาติและวนอุทยาน   เป็นคำที่มีความหมายไม่เหมือนกัน   นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักจะเข้าใจสับสนอยู่เสมอ   คำว่า "วนอุทยาน" (Forest Park) หมายถึง   พื้นที่ขนาดเล็ก   จัดตั้งขึ้นเพื่อจุดประสงค์สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ   โดยจะทำการปรับปรุงตกแต่งสถานที่เหล่านี้ให้เหมาะสม   มีความสวยงามและโดดเด่นในระดับท้องถิ่น   จุดเด่นอาจจะได้แก่  น้ำตก  หุบเหว  หน้าผา   ถ้ำ หรือ หาดทราย  เป็นต้น

อุทยานแห่งชาติ

อุทยานแห่งชาติ (Nation Park) มีความหมายแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศทั่วโลก ขึ้นอยู่กับประวัติความเป็นมา และความจำเป็นของการประกาศจัดตั้งตลอดจนสภาพแวดล้อมทางสังคม และเศรษฐกิจของประเทศนั้น เช่น สหรัฐอเมริกาและเเคนาดาจัดตั้งอุทยานแห่งชาติขึ้นเพื่อการคุ้มครองสัตว์ พืชพรรณ ประเทศอังกฤษเน้นด้านการอนุรักษ์สภาพภูมิประเทศ ประเทศทวีฟแอฟริกาจะเน้นการคุ้มครองรักษาสัตว์ป่า เป็นต้น สำหรับประเทศไทยจะเน้นการรักษาสภาพธรรมชาติ พืชพรรณ สัตว์ป่า ตลอดจนทิวทัศน์ สถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ โดยมีการระบุความหมายของอุทยานแห่งชาติไว้ ดังนี้

พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ให้ความหมายของอุทยานแห่งชาติไว้ คือ ที่ดินซึ่งรวามทั้งพื้นที่ดินทั่วไป ภูเขา ห้วย หนอง คลอง บึง บาง ลำน้ำ ทะเลสาบ เกาะ และชายฝั่งที่ได้รับการกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ลักษณะที่ดินดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีสภาพธรรมชาติที่น่าสนใจ และมิได้อยู่ในกรรมสิทธิ์หรือครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายของบุคคลใดซึ่งมิใช่ทบวงการเมือง ทั้งนี้การกำหนดดังกล่าวก็เพื่อให้คงอยู่ในสภาพเดิม เพื่อสงวนไว้ให้เป็นประโยชน์แก่การศึกษาและความรื่นรมย์ของประชาชนสืบไป

เสรี เวชชบุษกร (2529) ให้ความหมายไว้ว่า อุทยานแห่งชาติ คือพื้นที่อันกว้างขวางประกอบด้วยทิวทัศน์ที่สวยงามเหมาะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ มีสิ่งที่น่าสนใจด้านการศึกษา เช่น เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพืช สัตว์ที่หายาก หรือมีปรากฏการณ์ธรรมชาติเป็นที่น่าอัศจรรย์หรือมีสิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษทางด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ หรือวัฒนธรรม อุทยานแห่งชาติที่ได้มาตรฐานจะต้องมีพื้นที่อย่างน้อย 10 ตารางกิโลเมตร บริหารงานโดยรัฐ มีเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างเพียงพอที่จะสามารถป้องกันการบุกรุกได้อย่างเด็ดขาด ข้อสำคัญ คือ จะต้องอนุญาตให้เข้าไปท่องเที่ยว และจะต้องรักษาธรรมชาติให้คงสภาพดังเดิมมากที่สุด

สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (International Union of Conservation of Nature and Resources - IUCN) หรือปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น The World Conservation Union ได้แนะนำว่ารัฐบาลของทุก ๆ ประเทศควรสงวนคำว่าอุทยานแห่งชาติไว้เฉพาะพื้นที่ที่มีลักษณะดังข้างล่างนี้

อุทยานแห่งชาติ คือ พื้นที่ที่ค่อนข้างกว้างขวาง ซึ่ง

          - เป็นพื้นที่ซึ่งระบบนิเวศหนึ่งระบบหรือหลาย ๆ ระบบไม่เปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญไป เนื่องจากการเข้าไปแสวงหาประโยชน์และการยึดครองของมนุษย์

          - เป็นที่ซึ่งพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ มีสัณฐานและถิ่นที่อยู่อาศัยของพืชและน่าสนใจเป็นพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์ ด้านการศึกษา และด้านการพักผ่อนหย่อนใจหรือเป็นที่ซึ่งมีสภาพธรรมชาติงดงามตระการตายิ่ง

          - เป็นที่ซึ่งองค์กรอันมีอำนาจสูงสุดของประเทศได้เข้าคุ้มครอง รวมถึงเข้าจัดการยึดครองพื้นที่และจัดการแสวงหาผลประโยชน์ทั้งหมดโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อปกป้องระบบนิเวศ สัณฐาน หรือสภาพธรรมชาติอันงดงามยิ่งนั้นไว้อย่างมีประสิทธภาพ เพื่อให้เป็นองค์ประกอบของอุทยานแห่งชาติตลอดไป

          - เป็นที่เปิดโอกาสให้คนเข้าเยี่ยมชมได้ตามเงื่อนไขพิเศษ เพื่อวัตถุประสงค์ทางด้านการพัฒนากำลังกาย กำลังใจ และกำลังความรู้ของผู้เข้าไปเยี่ยมชมในรูปของการศึกษา วัฒนธรรม และนันทนาการ

จากความหมายดังกล่าวข้างต้น สรุปได้ว่า อุทยานแห่งชาติ คือ พื้นที่ค่อนข้างกว้างขวาง เป็นที่ซึ่งมีสภาพธรรมชาติ งดงามตระการตา หรือมีปรากฏการณ์ธรรมชาติที่น่าอัศจรรย์ หรือเป็นที่น่าสนใจเป็นพิเศษ มีคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะสังคมและวัฒนธรรม หรือมีพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ที่น่าสนใจ ที่ควรแก่การสงวนรักษาไว้เพื่อประโยชน์ทางด้านการอนุรักษ์ ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และทางด้านการพักผ่อนหย่อนใจทั้งนี้พื้นที่ดังกล่าว มิได้อยู่ในครอบครองของผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ นอกจากรัฐเข้าไปดำเนินการเพื่อสงวนรักษาและจัดการเพื่อให้เกิดประโยชน์ได้ตามเงื่อนไขพิเศษ โดยไม่เปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติที่สำคัญ                                                                                                                                                                                      

ความสำคัญของอุทยานแห่งชาติ     

อุทยานแห่งชาติ เป็นพื้นที่คุ้มครองที่กำหนดขึ้นเพื่อรักษาสภาพธรรมชาติร่วมกับการอนุญาตให้มีการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ ให้เกิดประโยชน์กับมนุษย์ควบคู่ไปด้วย อุทยานแห่งชาติเป็นพื้นที่ธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยจะช่วยรักษาสภาวะสมดุลธรรมชาติ ช่วยให้กระบวนการทางนิเวศวิทยาดำเนินไปตามปกติ ช่วยให้การดำรงชีพของมนุษย์ดำรงอยู่เป็นปกติสุข ในอีกทางหนึ่ง อุทยานแห่งชาติ เป็นแหล่งพันธุกรรมดั้งเดิมของสิ่งมีชีวิต ที่มนุษย์สามารถนำมาใช้ปรับปรุงพันธุกรรมของพืชและสัตว์ โดยใช้เทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมใหม่ๆ เข้าช่วย นอกจากนี้อุทยานแห่งชาติยังเป็นแหล่งที่ให้ความมั่นใจกับผู้ประกอบการต่างๆ ที่ใช้ทรัพยากรที่มีสิ่งมีชีวิตเป็นวัตถุดิบให้ดำเนินกิจกรรมได้อย่างมั่นใจ และมีความมั่นคง ที่ไม่กังวลว่าทรัพยากรพันธุกรรมและระบบนิเวศ จะเปลี่ยนไป

การรักษาทรัพยากรธรรมชาติไว้ให้ยั่งยืนตลอดไปต้องอาศัยความตั้งใจจริงของรัฐ อาศัยความร่วมมือจากผู้รับผิดชอบ และจากประชาชนทั่วไป ในการคุ้มครองพื้นที่ต้องมั่นใจว่าพื้นที่ธรรมชาติดังกล่าวได้รับการสงวนและอนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่อย่างถาวร ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต รวมทั้งพันธุกรรมดั้งเดิมของพืชและสัตว์ได้รับการอนุรักษ์ไว้แล้ว

การประกาศพื้นที่คุ้มครองในรูปแบบของอุทยานแห่งชาติมีความสำคัญพอสรุปได้ 6 ประการ ดังนี้

ความสำคัญทางด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ปัจจุบันสถานการณ์ป่าไม้ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาถูกทำลายอย่างมาก เนื่องจากความต้องการที่ดินเพื่อการเกษตรการประกาศจัดตั้งพื้นที่ เป็นอุทยานแห่งชาติก็เพื่อช่วยคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญไว้ เป็นมาตรการหนึ่งที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีกฎหมายที่เข้มงวด มีบทลงโทษที่รุนแรง มีการบริหาร มีอัตรากำลัง และงบประมาณที่จะดูแลได้อย่างใกล้ชิด             

ความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ อุทยานแห่งชาติมีวัตถุประสงค์หลักอย่างหนึ่งคือ เพื่อการท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจ ทำให้เกิดธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งเป็นที่มาของรายได้ ของราษฎรในท้องถิ่น และเกิดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีการใช้แรงงานในท้องถิ่นเป็นหลัก ทำให้มีการกระจายรายได้ นอกจากนี้พื้นที่อุทยานแห่งชาติ ยังเป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุกรรมดั้งเดิม ที่สามารถนำไปใช้ในการผสมพันธุ์พืชและสัตว์ เพื่อให้ได้พันธุ์แท้ที่ทนทานต่อโรคและแมลง และให้ผลผลิตสูง ทั้งช่วยรักษาสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการเกษตร บางแห่งเป็นต้นน้ำที่สำคัญที่ระบายน้ำลงสู่ลำธารตอนล่าง    

ความสำคัญทางด้านการศึกษาค้นคว้าวิจัย อุทยานแห่งชาติเป็นพื้นที่ที่ไม่ถูกรบกวน จึงเป็นที่ที่นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านนิเวศวิทยา ต้องการเพื่อการศึกษาวิจัย ทางธรรมชาติ และเลือกพื้นที่อุทยานแห่งชาติเป็นสถานีวิจัยในโครงการวิจัยที่สำคัญๆ ระดับชาติ และระดับโลก

ความสำคัญทางด้านสังคมและวัฒนธรรม  อุทยานแห่งชาติเป็นแหล่งที่มีคุณค่าทางด้านนันทนาการที่ประชาชนสามารถใช้เวลาว่างเที่ยวพักผ่อน ทำให้ร่างกายและจิตใจดีขึ้น เป็นที่มาของสติปัญญา ทำให้มีประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งเป็นแนวทางในการพัฒนาสังคมไปในทางที่ดี ดังจะพบว่านักประพันธ์ นักกวี นักแต่งเพลง หรือแม้แต่พระพุทธเจ้าได้ใช้ป่าเป็นแหล่งผลิตผลงานอันอมตะ อุทยานแห่งชาติได้นำความเจริญสู่พื้นที่ใกล้เคียงมี ถนน ไฟฟ้า ประปา อุทยานแห่งชาติเป็นแหล่งอนุรักษ์โบราณวัตถุและ โบราณสถานให้คงอยู่เพื่อเตือนใจประชาชนให้เห็นความสำคัญและบทเรียนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต นอกจากนี้กิจกรรมการท่องเที่ยวยังช่วยเผยแพร่วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่นให้แพร่หลาย ทำให้ประชาชนสำนึกถึงความสำคัญของขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม บางครั้งการท่องเที่ยวมีส่วนช่วย เปลี่ยนวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่จากการเกษตรมาเป็นการค้าขาย และนำเที่ยวมากขึ้น   

ความสำคัญทางด้านสิ่งแวดล้อม อุทยานแห่งชาติถูกจัดขึ้นเพื่อรักษาสภาวะแวดล้อมให้อยู่ในสภาพธรรมชาติเดิมมากที่สุดอุทยานแห่งชาติจึงเป็นพื้นที่ที่ช่วยรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อม จึงเกิดความมั่นคงแก่กระบวนการทางอุทกวิทยา ช่วยป้องกันการพังทลายของดิน ช่วยควบคุมสภาพภูมิอากาศช่วยรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม ต่อสิ่งมีชีวิต ช่วยคุ้มครองรักษาประสิทธิภาพของระบบนิเวศให้ได้ผลผลิตยั่งยืนตลอดไป และเป็นแหล่งช่วยพัฒนาจิตของมนุษย์ส่งผลให้ลดปัญหา สิ่งแวดล้อมทางด้านสังคมตามมา    

ความสำคัญทางด้านมั่นคงของประเทศ พื้นที่อุทยานแห่งชาติเหมือนคลังมหาสมบัติของประเทศ บางแห่งประกอบด้วยป่าไม้และแร่ธาตุอย่างสมบูรณ์ ในยามวิกฤติเมื่อชาติต้องการใช้ ทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อความอยู่รอดของประเทศ ก็สามารถนำมาใช้ได้    

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

หมายถึง พื้นที่ที่กำหนดขึ้นเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าโดยปลอดภัย เพื่อว่าสัตว์ป่าในพื้นที่ดังกล่าวจะได้มีโอกาสสืบพันธุ์และขยายพันธุ์ตามธรรมชาติได้มากขึ้น ทำให้สัตว์ป่าบางส่วนได้มีโอกาสกระจายจำนวนออกไปในท้องที่แหล่งอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกับเขตรักษาพันธุ์-สัตว์ป่า

การกำหนดให้มีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า สืบเนื่องมาจากการที่สัตว์ป่าจะสามารถดำรงชีพและสืบเชื้อสายต่อไปได้ จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่ แหล่งน้ำ แหล่งอาหาร แหล่งหลบภัย ป่าไม้เป็นแหล่งกำเนิดปัจจัยดังกล่าว ซึ่งดูยิ่งจะเพิ่มความสำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งต่อสัตว์ป่า เมื่อป่าไม้ถูกทำลายลงสัตว์ป่าก็ต้องต่อสู้กันเพื่อแก่งแย่งแหล่งน้ำ แหล่งอาหารที่มีจำกัด ทำให้สัตว์ป่ามีสุขภาพอ่อนแอและล้มตายไปมาก ขณะเดียวกับมนุษย์มีการพัฒนาอาวุธปืนและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้สำหรับการล่าสัตว์ป่าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เหล่านี้เป็นสาเหตุให้สัตว์ป่าถูกทำลายไปได้โดยง่าย ทำให้สัตว์ป่าบางชนิดปริมาณลดลงอย่างรวดเร็ว จนบางชนิดเกือบสูญพันธุ์หรือบางชนิดก็ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการพยายามสงวนและรักษาป่าไม้ไว้ เพื่อเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ในรูปแบบของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

การพิจารณาเลือกพื้นที่เพื่อการจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

ในการพิจารณาเลือกพื้นที่เพื่อการจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อาศัยหลักการที่สำคัญ ในการพิจารณาดังนี้

1. เป็นบริเวณที่มีสัตว์ป่าชุกชุมและมีสัตว์ป่าชนิดที่หาได้ยาก หรือกำลังจะสูญพันธุ์อาศัยอยู่

2. เป็นบริเวณที่มีแหล่งน้ำแหล่งอาหารและที่หลบภัยของสัตว์ป่าเพียงพอ

3. เป็นพื้นที่ป่าไม้ที่อยู่ห่างไกลจากชุมชนพอสมควร

4. มีสภาพป่าหลายลักษณะอยู่ในผืนเดียวกัน เป็นต้นว่ามีทั้งป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ ทุ่งหญ้า ฯลฯ ซึ่งจะทำให้มีความหลากหลายทางพืชและสัตว์ป่าสูง

5. จะต้องเป็นพื้นที่ที่ไม่อยู่ในกรรมสิทธิ์หรือครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายของบุคคลใด

ที่มา : http://www.dnp.go.th/